ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการวิจัย

 

 

โครงการวิจัยของเวปไซต์

"การพัฒนาฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ สู่การเป็นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0" 

(Database Development of Mural Painting about Food and Lifestyle to be a Cultural Capital to promote product development and innovation in Thai food In THAILAND 4.0

 

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

“จิตรกรรมฝาผนัง” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของประเทศไทย การเขียนจิตรกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อตกแต่งพื้นผนังพุทธสถาปัตยกรรมให้สวยงามและมีคุณค่าตามวัตถุประสงค์ของตัวสถาปัตยกรรม เพื่อจะทำให้พุทธศาสนิกชนที่เข้าไปในอาคารสถาปัตยกรรมน้อมจิตใจไปในกุศล และก่อให้เกิดอาการสำรวมอันเป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ ช่วยให้รู้สึกว่าได้ปลีกตัวออกมาจากโลกภายนอกและไม่แสดงบรรยากาศ

จิตรกรรมฝาผนังเป็นงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าและประโยชน์อย่างมาก ซึ่งนอกจากจะแสดงเรื่องหรือภาพที่มีอยู่จริง หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ หรือที่มีในนิยายนิทานแล้ว ภาพเขียนเหล่านี้ยังเป็นตำนานอันซื่อสัตย์ที่บันทึกเรื่องราวอันเป็นจริงจากจารีตประเพณีและระเบียบแบบแผนที่มีอยู่ในอดีต อันเป็นหลักฐานที่ทรงคุณค่าในการศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี เมื่ออาศัยภาพเขียนเหล่านี้อาจศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของประเทศได้ นับตั้งแต่วิถีชีวิตของเจ้านายในราชสำนักจนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่ชาวนา ภาพเขียนเหล่านี้จึงนับเป็นหลักฐานที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับศึกษาจารีตประเพณีเก่าแก่ได้เป็นอย่างดี (ศิลป์ พีระศรี 2502: 17 – 20) ปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังถือเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวไทยทั่วไปและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

ในบรรดาจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนอยู่ทั่วไป พบว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังกลุ่มหนึ่งมีความน่าสนใจอย่างมากคือ “ภาพวิถีชีวิตเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่” อันได้แก่ ภาพการเตรียมอาหารและประกอบอาหารในครัวเรือน ภาพการอยู่การกินในครัวเรือน ภาพการเก็บพืชผักผลไม้ในป่าและการเข้าป่าล่าสัตว์ ภาพการละเล่นในบริเวณบ้านเรือน ภาพการสร้างบ้านเรือน ภาพกิจกรรมต่าง ๆ รอบบ้านเรือน ฯลฯ ภาพกลุ่มนี้มักปรากฏร่วมอยู่ในฉากของภาพพุทธประวัติหรือภาพทศชาติชาดก อันเป็นการเขียนแทรกเพิ่มเติมเข้าไปจากเนื้อหาสาระหลักของภาพพุทธประวัติหรือภาพทศชาติชาดก

การปรากฏภาพวิถีชีวิตเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ดังกล่าว คงเนื่องมาจากความคิดของช่างผู้เขียนภาพที่เจตนาจะบันทึกวิถีชีวิตหรือการอยู่การกินของผู้คนในชุมชนหรือสังคมรอบตัว รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ ที่ช่างผู้เขียนประสบพบเห็น จึงอาจกล่าวได้ว่าจิตรกรรมฝาผนังภาพวิถีชีวิตเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่นี้ นอกจากจะมีความประณีตงดงามตามรสนิยมของชาวไทยในอดีตและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของประเทศไทยแล้ว ยังมีคุณค่าในฐานะเป็นหลักฐานสะท้อนวัฒนธรรมเกี่ยวกับการอยู่การกินและอาหารของชาวไทยในอดีตได้อย่างเป็นรูปธรรมจึงนับว่ามีคุณค่าอย่างมาก

จิตรกรรมฝาผนังในกลุ่มนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในวัดในกรุงเทพมหานคร ตัวอย่างเช่น จิตรกรรมฝาผนังบนหอพระไตรปิฎกวัดระฆังโฆสิตาราม จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดสุวรรณาราม เป็นต้น รวมไปถึงวัดในหัวเมืองสำคัญ ตัวอย่างเช่น จิตรกรรมฝาผนังวัดบางแคใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้านด้วย

       “อาหาร” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต เป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยอาหารนับเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นจากบรรพชนในอดีตที่ให้ความสำคัญกับอาหารและการอยู่การกิน จนกระทั่งได้คิดค้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสั่งสมความรู้เรื่องอาหารเหล่านั้นสืบเนื่องต่อมาเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้พบว่าในงานจิตรกรรมฝาผนังที่ช่างเขียนภาพวิถีชีวิตแทรกอยู่นั้น มักปรากฏการเขียนภาพวิถีชีวิตเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ร่วมอยู่ในภาพด้วยดังได้กล่าวไปแล้ว

                 ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าอาหารไทยเป็นหนึ่งใน “ทุนทางวัฒนธรรม” ของประเทศไทยที่มีเอกลักษณ์และชื่อเสียงระดับโลก และถูกนำมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว   สำหรับในยุค THAILAND 4.0 นี้อาหารไทยได้ถูกผลักดันให้มีบทบาทอยู่ในกลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมและบริการเพิ่มมูลค่า (Creative & Culture – High Value Services) ภายใต้แนวคิด 5Fs Cultural DNA (ดูรายละเอียดในหัวข้อ 12.2.2) ในกลุ่มย่อยเรื่อง อาหาร (Food) “Food as Cultural” ที่เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก เครื่องประดับ วิถีชีวิตของเกษตรกร ตำรับอาหารไทย กับ “Food as Function” ที่มีการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ การวิจัย และวิทยาศาสตร์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง (สุวิทย์ เมษินทรีย์ 2561)  

       THAILAND 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ประเทศปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล พร้อม ๆ กับเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศโลกที่หนึ่ง ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในบริบทของโลกยุค The Fourth Industrial revolution อย่างเป็นรูปธรรม (ดูรายละเอียดในหัวข้อ 11) (กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา 2559: 17) การที่ประเทศไทยมีความหลากหลายเชิงชีวภาพจึงก่อให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม นำมาสู่ทุนของประเทศที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่ ทุนทางธรรมชาติ ทุนกายภาพ ทุนสังคม และทุนมนุษย์ เมื่อนำทุนเหล่านี้มาหลอมรวมกันจึงก่อเกิดเป็น “ทุนทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ในนโยบาย THAILAND 4.0 ที่มุ่งเน้นในแนวทางการนำทุนทางวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่มี “คุณค่า” ไปสร้างสรรค์ให้เกิด “มูลค่า” และต้องรักษาความสมดุลระหว่างการสร้างมูลค่ากับการรักษาคุณค่า (สุวิทย์ เมษินทรีย์ 2561)  

แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอาหารในมิติการเป็นทุนทางวัฒนธรรมจำนวนไม่น้อย ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาหารกับการท่องเที่ยว อาหารกับสุขภาพ อาหารกับวิถีชีวิต ฯลฯ หากแต่พบว่ายังมีช่องว่างทางวิชาการที่สามารถศึกษาและพัฒนาต่อไปได้ โดยเฉพาะการศึกษาและพัฒนาที่เชื่อมโยงกับแนวคิด 5Fs Cultural DNA ในกลุ่มย่อยเรื่องอาหาร (Food) “Food as Cultural” ดังกล่าว จึงเป็นที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัยนี้ในชื่อเรื่อง “การพัฒนาฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ สู่การเป็นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0” ที่จะทำการศึกษาเพื่อสร้างคุณค่าให้กับจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ และจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ในเรื่องดังกล่าวสำหรับเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0 

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

1. สืบค้นแหล่งจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่

              2. ศึกษาข้อมูลทั่วไปของแหล่งจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่

3. วิเคราะห์รูปแบบศิลปะ อายุสมัย และเนื้อหา เพื่อสร้างคุณค่าให้กับจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่  

              4. จัดทำองค์ความรู้และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์เรื่องจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ สำหรับเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทย 

 

สมมติฐานการวิจัย

งานวิจัยนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า เมื่อทำการศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ตามแนวความคิดทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทั้งทางด้านคุณค่าและความหมายให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นทุนทางวัฒนธรรม และนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว องค์ความรู้เหล่านั้นในฐานข้อมูลจะสามารถเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0 ได้ 

 

ขอบเขตการวิจัย

            1.1 ด้านเนื้อหา

           การวิจัยนี้มุ่งสืบค้นและศึกษาเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังภาพวิถีชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร อันได้แก่ ภาพการเตรียมอาหาร ภาพการประกอบอาหารในครัวเรือน ภาพการอยู่การกินในครัวเรือน โดยจะศึกษาในประเด็นสำคัญ ได้แก่

- การศึกษาข้อมูลทั่วไปของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง

- การศึกษาประวัติความเป็นมาของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติวัด ประวัติผู้เขียน ฯลฯ

- การศึกษารูปแบบศิลปะ ได้แก่ ลักษณะฝีมือ การใช้สี การเขียนภาพต่าง ๆ ฯลฯ

- การศึกษาเนื้อหาภาพจิตรกรรมฝาผนัง

- การศึกษาคุณค่าที่โดดเด่นของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง

 

ในการวิจัยนี้จะทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ที่ในเบื้องต้นฐานข้อมูลนี้จะได้รับการเผยแพร่โดยเว็บไซต์ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยฐานข้อมูลที่ได้ดังกล่าวจะเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ตามนโยบาย THAILAND 4.0 ของรัฐบาลได้ ตัวอย่างเช่น การนำภาพจิตรกรรมและข้อมูลไปใช้พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารได้ การนำฐานข้อมูลไปใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวด้านอาหารไทย การนำฐานข้อมูลไปใช้ในด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น  

 

    1.2 ด้านตัวอย่าง

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะงานจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณี ที่ปรากฏภายในอุโบสถหรือวิหาร ที่เป็นงานฝีมือในสกุลช่างหลวงหรืองานที่มีฝีมือละเอียดประณีตอันได้รับอิทธิพลงานสกุลช่างหลวง และเป็นงานที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5

 

    1.3 ด้านเวลา

การวิจัยนี้มีขอบเขตด้านเวลาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นงานศึกษาตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5 และเป็นงานพัฒนาฐานข้อมูลที่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน

 

    1.4 ด้านพื้นที่

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงบางแหล่งในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นงานที่มีฝีมือละเอียดประณีตทั้งในงานลักษณะสกุลช่างหลวงและในงานที่รับอิทธิพลสกุลช่างหลวง และมีความเหมาะสมกับระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย

 

ระเบียบวิธีวิจัย

โครงการวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์ (Humanities) สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ (History of Arts) ใช้วิธีการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้

 

การเก็บรวบรวมข้อมูล

1. การวิจัยจากเอกสาร (Documentary Research)

ผู้วิจัยจะดำเนินการวิจัยผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในชั้นปฐมภูมิ (Primary source) และในชั้นทุติยภูมิ (Secondary Source) ทั้งหนังสือ ตำรา งานวิจัย ตลอดจนบทความทางวิชาการ เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติ รูปแบบศิลปะ ความหมาย คุณค่า และความเป็นมาของภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ จากแหล่งค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ อาทิเช่น ห้องสมุด เว็บไซต์ วัดที่พบตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนัง พิพิธภัณฑ์ ตลอดจนสถานที่ต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเอกสารดังกล่าวมาสู่การคัดกรอง เรียบเรียง จัดลำดับความสำคัญ วิเคราะห์ แยกจัดหมวดหมู่ และวางแผนเพื่อการวิจัยในลำดับต่อไป

 

2. การวิจัยจากภาคสนาม (Field Research)

ผู้วิจัยจะดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในชั้นปฐมภูมิ (Primary source) จากภาคสนาม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ ทั้งในเรื่องประวัติความเป็นมา รูปแบบศิลปะ ความหมาย และคุณค่า ประกอบด้วย

การเก็บรวบรวมตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังด้วยวิธีการบันทึกภาพอย่างละเอียดเพื่อนำมาใช้ทำฐานข้อมูล คัดลอกลายเส้นในส่วนที่ต้องการนำเสนอ รวมถึงเขียนแผนผังของจิตรกรรมฝาผนัง

การวิเคราะห์ตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังจากสถานที่จริง เพื่อให้ทราบถึงรูปแบบ อายุสมัย เนื้อหา และคุณค่า อันเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญของตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนัง

การเก็บรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังด้วยวิธีการสัมภาษณ์(Interview) จากผู้ทรงความรู้ของวัด ได้แก่ พระสงฆ์ ไวยาวัจกรวัด เพื่อให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของวัดและจิตรกรรมฝาผนัง

การเก็บรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังด้วยวิธีการสัมภาษณ์(Interview) จาก พระสงฆ์ ไวยาวัจกรวัด หรือผู้ทรงความรู้ของวัด เพื่อให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของจิตรกรรมฝาผนัง โดยคณะผู้วิจัยจะดำเนินการนัดสัมภาษณ์อาสาสมัครจำนวน 9 ครั้ง ตามแหล่งตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังแหล่งนั้นที่พิจารณาเบื้องต้นแล้วคาดว่าไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดและจิตรกรรมฝาผนังในเอกสาร (โปรดดูในตารางแสดงขนาดตัวอย่างฯ) และจะใช้เวลาในการสัมภาษณ์อาสาสมัครครั้งละประมาณ 30 นาที

 

การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลของจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกิน ที่เก็บได้จากการดำเนินการวิจัยจากเอกสาร (Documentary Research) จากการวิจัยภาคสนาม (Field Research) ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับภาพจิตรกรรมฝาผนัง สำหรับเตรียมดำเนินการพัฒนาเป็นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์

 

การจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์แสดงองค์ความรู้และภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ผู้วิจัยจะดำเนินการออกแบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ ในเบื้องต้นจะใช้โปรแกรม Visual studio จะใช้โปรแกรม PHP หรือ JavaScript ในการทำงานหน้าเว็บไซต์ จะใช้โปรแกรม MySQL ในการเก็บข้อมูลแล้วให้หน้าเว็บไซต์ดึงข้อมูลไปใช้งาน โดยฐานข้อมูลจากการวิจัยนี้จะได้รับการเผยแพร่โดยเว็บไซต์ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในเบื้องต้นจะใช้ชื่อฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ว่า “ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่” ภายในฐานข้อมูลจะประกอบไปด้วยข้อมูลต่าง ๆ คือ ข้อมูลทั่วไปของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง ได้แก่ ชื่อวัด ที่อยู่ พิกัด ฯลฯ ข้อมูลประวัติความเป็นมาของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติวัด ประวัติผู้เขียน ฯลฯ ข้อมูลรูปแบบศิลปะ ได้แก่ ลักษณะฝีมือ การใช้สี การเขียนภาพต่าง ๆ ฯลฯ ข้อมูลเนื้อหาภาพจิตรกรรมฝาผนัง ข้อมูลคุณค่าที่โดดเด่นของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง ข้อมูลภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งในภาพรวมและภาพเฉพาะเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ (ประมาณ 10 – 20 ภาพต่อ 1 แหล่ง) โดยสามารถให้ Download ข้อมูลและภาพถ่ายไปใช้งานได้

นอกจากนี้ ผู้วิจัยจะดำเนินการจัดทำเอกสารรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ในรูปแบบของการพรรณนา โดยการนำเสนอองค์ความรู้และภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ ควบคู่ไปกับการนำเสนออยู่ผ่านฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผลการวิจัยทั้งฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์และเอกสารรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค Thailand 4.0

 

          ด้านเนื้อหา

การวิจัยนี้มุ่งสืบค้นและศึกษาเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังภาพวิถีชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร อันได้แก่ ภาพการเตรียมอาหาร ภาพการประกอบอาหารในครัวเรือน ภาพการอยู่การกินในครัวเรือน โดยจะศึกษาในประเด็นสำคัญ ได้แก่

- การศึกษาข้อมูลทั่วไปของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง

- การศึกษาประวัติความเป็นมาของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติวัด ประวัติผู้เขียน ฯลฯ

- การศึกษารูปแบบศิลปะ ได้แก่ ลักษณะฝีมือ การใช้สี การเขียนภาพต่าง ๆ ฯลฯ

- การศึกษาเนื้อหาภาพจิตรกรรมฝาผนัง

- การศึกษาคุณค่าที่โดดเด่นของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์จากการวิจัยนี้จะแสดงข้อมูลต่าง ๆ ประกอบด้วย

- ในเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า “ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่”  

- ข้อมูลทั่วไปของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง ได้แก่ ชื่อวัด ที่อยู่ พิกัด ฯลฯ

- ข้อมูลประวัติความเป็นมาของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติวัด ประวัติผู้เขียน ฯลฯ

- ข้อมูลรูปแบบศิลปะ ได้แก่ ลักษณะฝีมือ การใช้สี การเขียนภาพต่าง ๆ ฯลฯ

- ข้อมูลเนื้อหาภาพจิตรกรรมฝาผนัง

- ข้อมูลคุณค่าที่โดดเด่นของแหล่งจิตรกรรมฝาผนัง

- ข้อมูลภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งในภาพรวมและภาพเฉพาะเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ (ประมาณ 10 – 20 ภาพต่อ 1 แหล่ง) โดยสามารถให้ Download ข้อมูลและ    ภาพถ่ายใช้งานได้

โดยฐานข้อมูลที่ได้ดังกล่าวจะเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ตามนโยบาย THAILAND 4.0 ของรัฐบาลได้ ตัวอย่างเช่น การนำภาพจิตรกรรมและข้อมูลไปใช้พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารได้ การนำฐานข้อมูลไปใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวด้านอาหารไทย การนำฐานข้อมูลไปใช้ในด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น  

 

ด้านเวลา

การวิจัยนี้มีขอบเขตด้านเวลาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นงานศึกษาตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5 และเป็นงานพัฒนาฐานข้อมูลที่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน

  

ด้านพื้นที่

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงบางแหล่งในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีตัวอย่างจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นงานที่มีฝีมือละเอียดประณีตทั้งในงานลักษณะสกุลช่างหลวงและในงานที่รับอิทธิพลสกุลช่างหลวง และมีความเหมาะสมกับระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย

 

ด้านตัวอย่าง

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะงานจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณี ที่ปรากฏภายในอุโบสถหรือวิหาร ที่เป็นงานฝีมือในสกุลช่างหลวงหรืองานที่มีฝีมือละเอียดประณีตอันได้รับอิทธิพลงานสกุลช่างหลวง และเป็นงานที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

          1. ได้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์เรื่อง “จิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่” ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมให้หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

          2. ได้บทความวิชาการที่จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1

          3. เกิดองค์ความรู้และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์เรื่องจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ สำหรับเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทย            

 

ระยะเวลาดำเนินการวิจัย

  ระยะเวลาทำโครงการ 12 เดือน

 

ผลสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับและการนำไปใช้ประโยชน์

โครงการวิจัยนี้จะผลสำเร็จของโครงการวิจัยได้แก่ ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์เรื่อง “ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่” ไปเผยแพร่ใน Website ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสามารถให้ Download ข้อมูลและภาพถ่ายไปใช้งานได้

      นอกจากนี้ โครงการวิจัยนี้จะผลสำเร็จของโครงการวิจัยได้แก่ ฐานข้อมูลเรื่อง “ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่” ที่จะไปปรากฏในฐานข้อมูลของชุดโครงการวิจัยร่วมกับฐานข้อมูลของโครงการวิจัยย่อยอื่น ๆ ในชื่อเรื่อง “ทุนวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารไทย” ซึ่งอยู่ในลักษณะเอกสารอิเล็กทรอนิคส์ (E – Book) เพื่อไปเผยแพร่ใน Website ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ SPAFA เป็นต้น

 

แนวคิดการวิจัย

การวิจัยนี้ตั้งอยู่ในกรอบแนวคิด 3 เรื่อง ได้แก่ แนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ แนวคิดเรื่อง THAILAND 4.0 ในประเด็นสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ใช้ความรู้ด้านการบริการเพิ่มมูลค่า (Creative & Culture – High Value Services) และแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรม อันจะเป็นการศึกษาเพื่อให้ได้องค์ความรู้สำหรับการสร้างมูลค่าให้กับจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ และเพื่อให้สามารถจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์เรื่องจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ สำหรับเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0   

 

แนวคิดทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ

พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวว่าประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์จากผลงานศิลปะ ซึ่งเป็นผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยตั้งใจให้เกิดความประทับใจแก่ตนเองและผู้อื่น (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2527: 2) การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะจึงเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ ลัทธิและนิกายทางศาสนา (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2544: 8) โดยใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือหลักฐานทางโบราณคดีเป็นเครื่องทดสอบ

การศึกษาตามแนวทางประวัติศาสตร์ศิลปะควรมีหลักสำคัญ 3 ประการคือ

1. อธิบายเนื้อหาของโบราณวัตถุหรือโบราณสถานโดยละเอียด หรือประติมานวิทยา (Iconography) เป็นการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของรูปแบบ

2. เปรียบเทียบลักษณะเฉพาะของรูปแบบโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน ที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน (Stylistic Comparison) เป็นการวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบรูปแบบของโบราณวัตถุหรือโบราณสถานที่พบใหม่ กับรูปแบบของโบราณวัตถุหรือโบราณสถานที่มีอายุเวลาแน่ชัดหรือได้เคยศึกษามาแล้ว เพื่อกำหนดอายุเวลาของโบราณวัตถุหรือโบราณสถานนั้น หรือเปรียบเทียบลักษณะเฉพาะทางรูปแบบโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน เพื่อกำหนดอายุเวลาเป็นยุคสมัย

3. วิเคราะห์จากการศึกษาวิวัฒนาการของลาย (Evolution of Motifs) เป็นการพยายามหาวิวัฒนาการของลวดลายหลายแบบ โดยเปรียบเทียบลวดลายตั้งแต่สมัยต้นจนถึงสมัยสุดท้ายของศิลปะแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อได้วิวัฒนาการของลวดลายแล้วจึงนำมาใช้เป็นหลักในการศึกษาลวดลายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ ยังต้องใช้วิชาทางด้านโบราณคดีมาร่วมด้วย เพื่อศึกษาถึงลักษณะการช่างของคนในสมัยต่าง ๆ โดยพิจารณาจากสิ่งแวดล้อม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2533: 12 – 15)

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร นิยามวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะว่า หมายถึงการศึกษาศิลปกรรมในอดีตตามแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้รู้ถึงเรื่องราวของงานศิลปกรรมนั้น ๆ และเป็นภาพสะท้อนเรื่องราวของมนุษย์ผู้สร้างงานศิลปะเหล่านั้น โดยผลการศึกษาดังกล่าวไม่ใช่ข้อยุติ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานใหม่และการแปลความใหม่

การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย แบ่งออกได้ 5 แนวทางหลัก คือ

1. การศึกษาเน้นประวัติความเป็นมา กล่าวคือเนื้อหาของงานส่วนใหญ่จะบรรยายเฉพาะแต่ประวัติการสร้างและการปฏิสังขรณ์งานศิลปกรรมต่าง ๆ เช่น ประวัติวัด ประวัติการสร้างพระพุทธรูป เป็นต้น โดยใช้ข้อมูลลายลักษณ์อักษรมาเป็นข้อมูลในการเรียบเรียง

2. การศึกษาเน้นประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวคือเนื้อหาของงานเกิดจากการวิเคราะห์งานศิลปกรรม ร่วมกับข้อมูลแวดล้อมทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น ๆ โดยใช้งานศิลปกรรมเป็นตัวสะท้อนให้เห็นภาพสังคมและวัฒนธรรม หรือกล่าวได้ว่าหลักฐานแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ทำให้เข้าใจงานศิลปกรรมในมุมมองต่าง ๆ มากขึ้น

3. การศึกษาเน้นรูปแบบศิลปะ กล่าวคือเนื้อหาเกิดจากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบงานศิลปกรรม เพื่อจัดกลุ่มรูปแบบ จำแนกยุคสมัย จำแนกรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ วิเคราะห์การรับ – ส่งอิทธิพลทางด้านรูปแบบ รวมไปถึงการศึกษาถึงวิวัฒนาการของรูปทรงและลวดลายของศิลปกรรม

4. การศึกษาเน้นคติความเชื่อและความหมายหรือประติมานวิทยา กล่าวคือเกิดจากการพิจารณาความหมายและความเชื่อเนื่องในรูปแบบของงานศิลปกรรม โดยวิเคราะห์ร่วมกับคัมภีร์ทางศาสนา คติความเชื่อต่าง ๆ ที่ปรากฏ ระบบสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือความหมายที่มีนัยยะแฝงต่าง ๆ การศึกษาด้านนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจงานศิลปกรรมได้ชัดเจนมากขึ้น

5. การศึกษาเน้นสุนทรียศาสตร์และเชิงช่าง กล่าวคือเกิดจากการศึกษาในมุมมองทางด้านความงามของงานศิลปกรรม ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าและอธิบายกรรมวิธีทางงานช่างที่ส่งผลต่องานศิลปกรรม การศึกษาทางด้านนี้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับอัตวิสัยหรือนามธรรมที่แต่ละคนจะมองเห็น

อย่างไรก็ดี การศึกษาในแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ไม่มีแนวทางใดมีความเหมาะสมครบถ้วนโดยไม่พึ่งพาแนวทางอื่น ๆ (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง 2551: 11 – 51)

จากแนวคิดทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะดังกล่าว นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะต่างแสดงความคิดเห็นถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไว้ในทำนองเดียวกันว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะคือวิชาที่ศึกษางานศิลปกรรมในอดีตที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นให้เข้าใจถึงเรื่องราวของงานศิลปกรรม ทั้งในด้านรูปแบบและความหมายทางประติมานวิทยา เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่สร้างสรรค์งานศิลปกรรมนั้น ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งในการวิจัยนี้มุ่งศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่โดยใช้แนวความคิดทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะดังกล่าว เพื่อให้ได้องค์ความรู้เรื่องประวัติความเป็นมา รูปแบบศิลปะ คติความเชื่อ และความหมาย ตลอดจนภาพสะท้อนทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่ปรากฏในภาพเขียนเหล่านั้น อันจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้จิตรกรรมฝาผนังนั้นเป็นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0    

 

แนวคิดเรื่อง THAILAND 4.0 ในประเด็นสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ใช้ความรู้ด้านการบริการเพิ่มมูลค่า (Creative & Culture - High Value Services)

Thailand 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล พร้อม ๆ กับเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศในโลกที่หนึ่ง ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในบริบทของโลกยุค The Fourth Industrial Revolution อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้วางไว้ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยขับเคลื่อนผ่านกลไก “ประชารัฐ”

ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาประเทศ 2 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ

1. การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน (Strength from Within)

2. การเชื่อมโยงกับประชาคมโลก (Connect to the World) ทั้งสองปัจจัยจะต้องดำเนินควบคู่กันในการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนให้กับประเทศ

การพัฒนาที่สมดุลของ Thailand 4.0 ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (17 Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ได้อย่างแนบแน่นและลงตัว การเชื่อมโยงกับประชาคมโลก เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศเกิดความเข้มแข็งก็จะเกิดการพัฒนาขีดความสามารถและมีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอเมื่อเผชิญกับโอกาสและภัยคุกคามจากโลกภายนอก

อาจกล่าวได้ว่า แก่นยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในและการเชื่อมโยงประเทศไทยกับประชาคมโลกนั้น ตั้งอยู่บนฐานความคิดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอดรับกับ Sustainable Development Goals ของ UN (กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา 2559: 8 – 12)

รัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาโมเดล Thailand 4.0 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบไปด้วย 5 วาระ ดังนี้ 

วาระที่ 1: การเตรียมคนไทย 4.0 ให้พร้อมก้าวสู่โลกที่หนึ่ง

วาระที่ 2: การพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

วาระที่ 3: การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

วาระที่ 4: การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดและ 77 จังหวัด

วาระที่ 5: การบูรณการอาเซียน เชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก (กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา 2559: 17)

สำหรับในการวิจัยนี้มีความเกี่ยวข้องอยู่ในกรอบของ วาระที่ 2: พัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวคือ ประเทศไทยมี “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ของการมีความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อย่างไรก็ดี ภายใต้การแข่งขันของระบบเศรษฐกิจโลกดังเช่นในปัจจุบัน โอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบจะมีอยู่จำกัด ความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบดังกล่าวให้เป็น “ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน” ด้วยการเติมเต็มผ่านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์

ในวาระที่ 2 นี้ มีประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้คือ “จาก 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สู่ 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” กล่าวคือ เป้าหมายหลักของ Thailand 4.0 คือการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างจาก “ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่” สู่ “ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองในระดับที่เหมาะสม” จึงได้กำหนด 5 กลุ่มเทคโนโลยี / อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาขึ้นในประเทศ ดังนี้

1. กลุ่มเกษตรและอาหาร ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Food & Agriculture – Biotech)

2. กลุ่มสุขภาพ ใช้เทคโนโลยีชีวการแพทย์ (Health & Wellness – Biomedical)

3. กลุ่มเครื่องมืออัจฉริยะและหุ่นยนต์ ใช้เทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ (Smart Devices & Robotics

– Mechatronics)

4. กลุ่มดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตออฟติง ใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital & IOT – Embedded Technology)

5. กลุ่มสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ใช้ Service Design ในการสร้างมูลค่า (Creative & Culture – High Value Services)

เป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เป็นการรังสรรค์นวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาใน 3 นวัตกรรมสำคัญคือ นวัตกรรมในตัวผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมในกระบวนการผลิต และ นวัตกรรมเชิงธุรกิจ แต่ละกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลไกขับเคลื่อน และ Roadmap การพัฒนา (กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา 2559: 30 – 32)

ประเด็นสำคัญคือในกลุ่มที่ 5 นี้เองที่การวิจัยครั้งนี้มีความเกี่ยวข้อง

กลุ่มที่ 5 สร้างสรรค์และวัฒนธรรม ใช้ความรู้ด้านการบริการเพิ่มมูลค่า (Creative & Culture – High Value Services)

วิสัยทัศน์ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Hub) ของอาเซียนภายใน 10 ปี

Roadmap และกลไกการขับเคลื่อน ภารกิจของกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง คือการขับเคลื่อนที่ใช้พื้นฐานของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น

Roadmap และกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และวัฒนธรรมจะเริ่มจากการแปลงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย หรือ ดีเอ็นเอของประเทศไทย (Thai DNA) อันประกอบไปด้วย 1) Fun 2) Flexible 3) Flavoring 4) Fulfilling และ 5) Friendly ออกมาเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และวัฒนธรรม จะประกอบด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความคิดสร้างสรรค์ การสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) การกำหนดมาตรฐานและมาตรการสนับสนุน การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability) ของผู้ประกอบการ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการทางนวัตกรรม (กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา 2559: 40 – 43)

จากทิศทางการวิจัยข้างต้น “5 เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” จึงถูกแปลงออกมาเป็น “การวิจัยเชิงบูรณาการ” เพื่อตอบโจทย์ประเด็นปัญหาและโอกาสในระดับโลกและระดับประเทศ และโอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งมีอยู่หลากหลายประเด็น อาทิ เกษตรและอาหาร พลังงาน สังคมสูงวัย เมืองอัจฉริยะ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำ การปรับเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เป็นต้น โดยในชั้นต้นจะขอเริ่มจาก 5 ประเด็นแรกก่อน อันประกอบด้วย

1. การวิจัยเชิงบูรณาการว่าด้วยเกษตรและอาหาร

2. การวิจัยเชิงบูรณาการว่าด้วยพลังงาน

3. การวิจัยเชิงบูรณาการว่าด้วยสังคมสูงอายุ

4. การวิจัยเชิงบูรณาการว่าด้วยเมืองอัจฉริยะ

5. การวิจัยเชิงบูรณาการว่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ในแต่ละประเด็นการวิจัยเชิงบูรณาการจะมีศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากมาย ตัวอย่างเช่น ในประเด็นการวิจัยเรื่องเกษตรและอาหาร นอกจากจะมีเทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาพันธุ์พืชหรืออาหารแล้ว ยังต้องการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และดิจิทัลสำหรับ Smart Farming และ Precision Agriculture เป็นต้น

เพื่อให้การสร้าง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเป้าหมาย และการวิจัยเชิงบูรณการเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน” สนับสนุน อันประกอบด้วย

- การจัดตั้งกองทุนเพื่อการยกระดับขีดความสามารถของเทคโนโลยี / อุตสาหกรรมเป้าหมาย

- การใช้ระบบ Program – Based Multiyear Budgeting จัดสรรเงินทุนรายเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย และรายวาระการวิจัยเชิงบูรณาการ

- การตั้งกองทุนเพื่อให้เงินสนับสนุน เงินให้กู้ยืม และชดเชยดอกเบี้ย (Performance Based Conditional Grants & Subsidies

- การพัฒนา Multilayered Capital Markets เพื่อสนับสนุนการรังสรรค์นวัตกรรม และ Startups

- การส่งเสริม Capability – Based Investment โดย BOI (กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา 2559: 44 – 45)

 

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ (2561) กล่าวถึง นโยบาย THAILAND 4.0 ในมิติด้านวัฒนธรรม ว่าประเทศไทย 4.0 จะเกิดขึ้นได้ต้องพัฒนาและยกระดับคนในสังคมที่มีตั้งแต่คนไทย 1.0 – 3.0 ให้เป็นคนไทย 4.0 กล่าวคือ ประเทศไทย 4.0 ต้องเปลี่ยนการเจริญเติบโตแบบ “รากแขนง” มาเป็นแบบ “รากแก้ว” ประเทศไทย 4.0 ประกอบด้วย 3 เสาหลักที่สำคัญ เสาหลักด้านการศึกษา เสาหลักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสาหลักด้านวัฒนธรรม ดังนั้นในประเทศไทย 4.0 จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยในทิศทางที่เป็นส่วนหนึ่งของรากแก้ว โดยอย่างน้อยต้องยืนบนขาของตนเอง ขาขององค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อวันหนึ่งจะได้มีอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและวิสาหกิจที่แข็งแรง

การก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 จึงต้องเป็นไปในทิศทางที่นำสิ่งที่มี “คุณค่า” ไปสร้างให้เกิด “มูลค่า” และต้องรักษาความสมดุลระหว่างการสร้างมูลค่าและการรักษาคุณค่า ทุกวันนี้มนุษย์เริ่มเรียกหาทุนนิยมที่เน้นในความเป็นมนุษย์ (Humanistic Capitalism) ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทของปัจเจกบุคคล หรือในบริบทของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ได้ก็ด้วยวัฒนธรรม

จากจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายเชิงชีวภาพ ก่อให้เกิดความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม นำมาสู่ทุนของประเทศที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่ ทุนธรรมชาติ ทุนกายภาพ ทุนสังคม และทุนมนุษย์ เมื่อนำทุนเหล่านี้มาหลอมรวมกันจึงจะก่อเกิดเป็น ทุนวัฒนธรรม (Cultural Capital) ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ 4.0 นั้น นอกจากจะขับเคลื่อนด้วยปัญญาแล้วยังต้องอาศัยทุนต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

วัฒนธรรมเปรียบเสมือน Spectrum เป็นเฉดสี จากความเป็นไทย (Thainess) ไปสู่ความเป็นสุวรรณภูมิ มีพื้นที่ร่วมกัน มีพุทธศาสนาเดียวกัน มีวัฒนธรรมที่มีรากเหง้าใกล้เคียงกัน ไปสู่วัฒนธรรมอาเซียน วัฒนธรรมเอเชีย และไปสู่วัฒนธรรมโลก

ความท้าทายใหม่จึงอยู่ที่ประเด็นสำคัญคือ

- การรักษาตัวตนความเป็นไทย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Cultural Industry) เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Identity) และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage)

- การผสมผสานแนวคิดใหม่ ๆ เป็น Fusion ของเทคโนโลยี วัฒนธรรม และการดำรงชีวิต เพื่อสร้างเสน่ห์ แปลงมูลค่าเป็นคุณค่า โดยคุณค่าแท้ของความเป็นไทยสามารถสร้างมูลค่าได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีคุณค่าความเป็นไทยผสมผสานกับองค์ประกอบอื่นด้วยจะเป็นเวทีของ Creative Industry และ Creative Economic  

จากแนวคิดเรื่อง NEA (Nobody owns = ไม่มีใครเป็นเจ้าของ) (Everybody can use it = ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้) (Anybody can improve it = ทุกคนสามารถแก้ไขปรับปรุงได้) ทำให้มองวัฒนธรรมในแง่ “Stock & Flow” ประเทศไทยมีวัฒนธรรมอะไร ต้องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับใคร จะเคลื่อนไปทางไหน บางส่วนเป็น “In – In” คือสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในประเทศ บางส่วนเป็น “In – Out” คือสร้างขึ้นมาเพื่อการส่งออกวัฒนธรรมไทยไปยังต่างประเทศ เช่น มวยไทย การนั่งสมาธิ เป็นต้น บางส่วนเป็น “Out – In” คือการนำวัฒนธรรมบางส่วนเข้ามาผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมไทย และบางส่วนเป็น “Out – Out” คือการกลายเป็นวัฒนธรรมสากล เช่น Thai Cuisine เป็นต้น     

วัฒนธรรมไทย 4.0 ต้องประกอบไปด้วย

- การแปลงคุณค่าเป็นมูลค่า และนำมูลค่าที่ได้ไปเติมแต่งรักษาให้เกิดคุณค่าที่เพิ่มขึ้น ในลักษณะเป็นวงจรที่เสริมซึ่งกันและกัน

- การค้าในอนาคตเป็น Free Flow ไม่ใช่แต่เฉพาะ Good & Service แต่เป็น Free Flow of Idal, Free Flow of Talent, Free Flow of Information คนเริ่มเสพสิ่งที่จับต้องไม่ได้ จึงเป็นโอกาสของวัฒนธรรมไทยจะเข้าแทรกตัวเข้าไป

ใน THAILAND 4.0 มีอยู่ 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งวัฒนธรรมล้วนมีส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย     

1. กลุ่มเกษตรและอาหาร ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Food & Agriculture – Biotech) เนื่องจากอาหารเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาของบรรพบุรุษไทย จึงเป็นเรื่องของ “Food as Cultural” ตลอดจนการรักษาวัฒนธรรมทางการเกษตร  

2. กลุ่มสุขภาพ ใช้เทคโนโลยีชีวการแพทย์ (Health & Wellness – Biomedical) เนื่องจากการแพทย์แผนไทยเป็นภูมิปัญญาของไทยที่มีศักยภาพสูงมาก   

3. กลุ่มเครื่องมืออัจฉริยะและหุ่นยนต์ ใช้เทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ (Smart Devices & Robotics

– Mechatronics) เนื่องจากได้มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ทำให้วัฒนธรรมในครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์

4. กลุ่มดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตออฟติง ใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital & IOT – Embedded Technology) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในตัวคนโดยอาศัยเทคโนโลยี จาก “Physical Humanity” ไปสู่ “Digital Humanity” เป็นวัฒนธรรมชุดใหม่ เพราะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในดิจิตอลแพลทฟอร์ม

5. กลุ่มสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ใช้ Service Design ในการสร้างมูลค่า (Creative & Culture – High Value Services) โดยทางสถาบันศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ Kellogg School of Management แห่ง Northwestern University ได้เคยศึกษาไว้พบว่า Cultural DNA ของคนไทย ประกอบด้วย 5 Fs ได้แก่

1. Fun ความสนุก

2. Flexible ความยืดหยุ่น

3. Flavoring ความเป็นมิตร

4. Fulfilling ความมีรสชาติ

5. Friendly การเต็มที่กับชีวิต

จาก 5 Fs Cultural DNA ดังกล่าว นำไปสู่ 5 F Model ที่กำลังดำเนินการผลักดันร่วมกับทีมงาน Creative Economy ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

- Fighting มวยไทย เป็นวัฒนธรรมของไทยแท้ ๆ ปัจจุบันมีค่ายมวยทั่วโลกประมาณ 3 – 4 หมื่นแห่ง มีทั้งได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน ถ้าเข้าไปจัดระเบียบให้ดีจะมีพลังมหาศาล

- Festivals เทศกาล คนไทยมีความสนุกมีเทศกาลต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เป็นต้น จะทำอย่างไรให้เทศกาลของไทยยิ่งใหญ่ในระดับโลกเช่นเดียวกับงาน Carnival ของประเทศบราซิล

- Food อยู่ระหว่าง “Food as Culture” ที่เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก เครื่องประดับ วิถีชีวิตของเกษตรกร ตำรับอาหารไทย กับ “Food as Function” ที่มีการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ การวิจัย และวิทยาศาสตร์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

- Fashion ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เสื้อผ้า ยังรวมถึงเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของตกแต่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งยังต้องการ Creative Concepts ใส่ Design Thinking และคิดค้น Business Models พร้อม ๆ กับมี Essences ของความเป็นไทยใส่เข้าไป

- Film, Animation & Games ซึ่งสามารถใส่ Creative Content ลงไปได้มาก แต่สามารถสอดแทรก Cultural Content ได้อยู่ไม่น้อย

ในการวิจัยนี้มุ่งศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ให้สอดคล้องแนวความคิด THAILAND 4.0 ในประเด็นเรื่องการสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ใช้ความรู้ด้านการบริการเพิ่มมูลค่า เพื่อที่จะใช้ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นมรดกวัฒนธรรมของไทยและองค์ความรู้จากจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การด้านความคิดสร้างสรรค์ของอาเซียน อันเป็นการใช้พื้นฐานของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น โดยการแปลงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยออกมาเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability) ของผู้ประกอบการอาหารไทย

     

แนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรม

“ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital)” ถือเป็นทุนในรูปแบบหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคุณค่า องค์ความรู้ ภูมิปัญญา และงานสร้างสรรค์ ที่ถูกค้นพบจากผู้ทรงความรู้ในท้องถิ่น ซึ่งทุนทางวัฒนธรรมนั้นครอบคลุมไปถึงค่านิยมและความเชื่อต่าง ๆ ในสังคมที่มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมให้เกิดการจัดระเบียบต่อสังคมหรือสร้างกติกาที่เป็นคุณต่อสังคมส่วนรวมให้เกิดความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน (ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และคณะ 2549: 18) อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการสั่งสมมาแต่ในอดีต รวมทั้งมีคุณค่าต่อมนุษย์และความต้องการของสังคม นอกเหนือจากการให้คุณค่าทางเศรษฐกิจ (Throsby 2001: p.46. อ้างถึงใน ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และคณะ 2549: 18) หรือทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ทั้งทุนที่จับต้องได้หรือทุนที่จับต้องไม่ได้ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตสินค้าหรือบริการ อาทิเช่น วัตถุดิบ เงินทุน ที่ดิน แรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ

ทั้งนี้หากจำแนกประเภทของทุนทางวัฒนธรรมที่ปรากฏขึ้นนั้น สามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 ประเภท สำคัญคือ

1. ทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสได้ (Tangible Culture) ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ประชาชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและรับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของทุนทางวัฒนธรรมดังกล่าวอย่างชัดเจน อาทิเช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด ผลงานทางศิลปะ ภาพเขียน จิตรกรรม รูปปั้น ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสได้นี้กลับไม่ถูกจำกัดอยู่ในรูปแบบเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังขยายของเขตไปถึงทุนกายภาพหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น อาคาร สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ โดยทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบนี้สามารถสึกหรอผุพังได้ หากไม่ได้รับการดูแลและเอาใจใส่เป็นอย่างดี ทั้งนี้ทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสได้นั้นสามารถวัดมูลค่าในรูปของเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นตัววัตถุเอง หรือการบริการที่ใช้วัตถุเอง หรือการบริการที่ใช้วัตถุนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ

2. ทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้ (Intangible Culture) หรือทุนทางวัฒนธรรมที่ที่ฝังอยู่ในตัวคนหรือจิตใจ (Embodied as State of Mind/Body) ถือเป็นทุนที่อยู่ในรูปของทรัพย์สินทางปัญญา จนกล่าวได้ว่าทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบนี้ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (Nonmaterial Culture) อาทิเช่น ความคิด การปฏิบัติ ความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมที่แบ่งปันระหว่างสมาชิกในชุมชน ตัวอย่างเช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ศิลปะการแสดง เพลง งานวรรณกรรม นิทาน ตำนานพื้นบ้าน ดนตรี ฯลฯ (Throsby 2001: p.46. อ้างถึงใน ไกรฤกษ์ ปิ่นแก้ว 2554: 34)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุนทางวัฒนธรรมทั้งทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสได้และทุนทางวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้ จะมีรูปแบบและองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไปก็ตาม แต่ทุนทางวัฒนธรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ยังคงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เนื่องจากทุนทางวัฒนธรรมมักมีความหมายหรือคุณค่าอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งยังสามารถปรากฏได้ในทุกช่วงเวลาในฐานะทุนคงคลัง (Capital stock) ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์และทุนทางวัฒนธรรม ดังที่ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวไว้ในหนังสือวัฒนธรรมคือทุน โดยเรียกทุนคงคลังนี้ว่า “วัฒนธรรมคงคลัง (Cultural Stock)” (ไกรฤกษ์ ปิ่นแก้ว 2554: 34)

ทั้งนี้ทุนวัฒนธรรมจะเติบใหญ่และกล้าแข็งได้ โดยการเติบโตของอุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรม (Cultural Products) อันหมายถึงสินค้าและบริการที่มีวัฒนธรรมฝังตัวอยู่ในสินค้าและบริการนั้น ๆ กล่าวคือเมื่อมีการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจะได้รับความสุขและความพอใจจากสินค้าและบริการนั้น ๆ แต่ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวยังได้รับ “วัฒนธรรม” ที่มีการฝังตัวในระดับที่เข้มข้นแตกต่างกันอยู่ในสินค้านั้น ๆ ด้วย อาทิเช่น การซื้อบะหมี่ Mama มาบริโภคผู้บริโภคนอกจากจะได้ความสุขจากสินค้าแล้วนั้นผู้บริโภคยังรับเอาวัฒนธรรม Fast Food ที่อยู่ในบะหมี่ Mama อีกด้วย อันเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากการบริโภคโต๊ะจีนหรืออาหารญี่ปุ่นที่ไม่มีความเร่งรีบของการบริโภคอาหาร (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2539: 8 – 10)

ด้วยเหตุนี้ การก่อเกิดและการเติบโตของทุนทางวัฒนธรรมที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของระบบทุนนิยมโลก ตลอดจนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 จึงมีกระบวนการที่สำคัญอยู่ 4 ประการ อันประกอบด้วย (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2539: 15 – 20)

1. กระบวนการแปรวัฒนธรรมเป็นสินค้า (Commoditization of Culture) ถือเป็นปัจจัยประการแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อเกิดและการเติบโตของทุนวัฒนธรรม เนื่องจากหากวัฒนธรรมไม่ถูกแปรสภาพเป็นสินค้า จะส่งผลให้อุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อันจะส่งผลให้ทุนทางวัฒนธรรมไม่สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง ในทางกลับกันหากวัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรมที่จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ทุนทางวัฒนธรรมเติบโตขึ้น

โดยในกระบวนการแปรวัฒนธรรมเป็นสินค้านั้นจะต้องพัฒนาให้วัฒนธรรมมีราคาหรือมีความต้องการซื้อที่มากพอจนเกิดความคุ้มค่า อันจะทำให้เกิดการผลิตอุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรม นอกจากนี้การแปรวัฒนธรรมเป็นสินค้ายังต้องอาศัยการเติบใหญ่ของพลังเศรษฐกิจทุนนิยมให้เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า โดยมุ่งให้พลังตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาของวัฒนธรรมนั้น ๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กล่าวคือเมื่อสินค้าทางวัฒนธรรมใดไม่มีความต้องการในตลาดทุนนิยมสินค้าทางวัฒนธรรมดังกล่าวก็ย่อมจะมีราคาที่ตกต่ำ ในทางกลับกันหากสินค้าทางวัฒนธรรมใดมีความต้องการมากในตลาดทุนนิยมสินค้าทางวัฒนธรรมดังกล่าวก็ย่อมจะมีราคาที่สูงขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าสินค้าการมีราคาที่สูงหรือต่ำของสินค้าทางวัฒนธรรมนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความนิยม ความต้องการ หรืออุปสงค์ของผู้บริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมนั้น ๆ

ทั้งนี้กระบวนการสร้างอุปสงค์ (Demand Creation) หรือการสร้างความต้องการต่อสินค้าทางวัฒนธรรมนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการกล่อมเกลาภายในสังคมนั้น ๆ ทั้งในส่วนของการกล่อมเกลาผ่านการอบรมบ่มนิสัย การศึกษาในระบบโรงเรียน ตลอดจนการสื่อสารทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์เป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างอุปสงค์ทางสินค้าวัฒนธรรมของสังคมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าสังคมต่าง ๆ จะมีรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่วัฒนธรรมต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อสอดคล้องต่อแบบแผนการดำรงชีวิต แบบแผนการบริโภค แบบแผนการพักผ่อนหย่อนใจที่แปรเปลี่ยนไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนในสังคมเกิดความต้องการสินค้าทางวัฒนธรรมประเภทใหม่ ๆ เข้ามาทดแทนสินค้าทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม

นอกจากปัจจัยภายในที่มีบทบาทต่อกระบวนการสร้างอุปสงค์ในสินค้าทางวัฒนธรรมแล้วนั้น ปัจจัยภายนอกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น กระบวนการสากลานุวัตรของวัฒนธรรมชาติมหาอำนาจที่เติบโตมาควบคู่มากับระบบจักรวรรดินิยม กระแสโลกาภิวัตน์ และกระบวนการโทรทัศนานุวัตรหรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรทัศน์ที่มีบทบาทต่อการโฆษณาและการส่งเสริมการขายสินค้าทางวัฒนธรรม เหล่านี้ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อกระบวนการสร้างอุปสงค์ให้กับสินค้าทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ตัวอย่างสินค้าทางวัฒนธรรมภายนอกที่มีบทบาทต่อกระบวนการสร้างอุปสงค์ในสินค้าทางวัฒนธรรมในประเทศไทยในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ซีรีย์เกาหลี K – POP ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้กระบวนการแปรวัฒนธรรมเป็นสินค้าจึงถือเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญยิ่งและจำเป็นต่อการเกิดและเติบโตของทุนทางวัฒนธรรม แต่ท้ายที่สุดกระบวนการเหล่านี้จะบังเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการสร้างอุปสงค์หรือความต้องการที่มีต่อวัฒนธรรมหรือสินค้าทางวัฒนธรรมนั้น ๆ

2. กระบวนการพาณิชยานุวัตรของวัฒนธรรม (Commercialization of Culture) ถือเป็นปัจจัยประการที่สองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อเกิดและการเติบโตของทุนวัฒนธรรม เนื่องจากการแปรวัฒนธรรมเป็นสินค้าได้ไม่เพียงแต่ต้องการอุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น หากแต่ต้องมีตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่อีกด้วย จึงจะทำให้การผลิตสินค้าวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญยิ่งของการก่อเกิดและการเติบโตของสินค้าทางวัฒนธรรมนั้นจะต้องเป็นการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อขายไม่ใช่ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้เท่านั้นเพื่อทำให้กระบวนการสร้างอุปสงค์มีโยงใยที่หยั่งรากลึกและมีฐานอันกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อขายนั้นจะต้องมุ่งขยายสินค้าทางวัฒนธรรมไปสู่ประเทศโลกที่สามเพื่อให้อุตสาหกรรมสินค้าทางวัฒนธรรมเกิดการขยายตัวภายใต้การยอมรับในสินค้าทางวัฒนธรรมของประชาชนในโลกที่สาม

ด้วยเหตุนี้กระบวนการพาณิชยานุวัตรของวัฒนธรรม จึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งของการขยายตัวของอุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามการโฆษณาและการส่งเสริมการขายกลับไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะก่อให้เกิดการยอมรับในอุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรม แต่การสร้างยี่ห้อ (Brand) โดยเฉพาะการสร้างยี่ห้อระดับโลก (Global Brand) และการกล่อมเกลาให้ผู้บริโภคมีความภักดีต่อยี่ห้อ (Brand Loyalty) ยังนับเป็นอีกเงื่อนที่สำคัญของการสร้างให้เกิดการยอมรับของอุตสาหกรรมสินค้าวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศโลกที่สาม

3. กระบวนการเทคโนโลยานุวัตรของวัฒนธรรม (Technologization of Culture) ถือเป็นปัจจัยประการที่สามที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อเกิดและการเติบโตของทุนวัฒนธรรม กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีวัสดุภัณฑ์สมัยใหม่ และเทคโนโลยีชีวภาพ ได้ก่อให้เกิดผลผลิตใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์และสังคมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นยังได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นส่งผลให้โครงสร้างความต้องการวัฒนธรรมได้แปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีส่วนช่วยให้การถ่ายทอดข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จนทำให้ระบบสารสนเทศเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นยังได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแบบแผนพื้นฐานในการสื่อสารของประชาชนทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อกระบวนทัศน์ทางความคิด รวมถึงแบบแผนการดำรงชีวิต ระบบคุณค่า บรรทัดฐานทางจริยธรรมและวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามไปด้วย อันส่งผลให้กระบวนการเทคโนโลยานุวัตรของวัฒนธรรม จึงถือเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งของการเกิดและการเติบโตของทุนทางวัฒนธรรม

4. กระบวนการโทรทัศนานุวัตรของวัฒนธรรม (Televisionalization of Culture) ถือเป็นปัจจัยประการสุดท้ายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อเกิดและการเติบโตของทุนวัฒนธรรม เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรคมนาคมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศที่ก่อให้เกิดบริการโทรทัศน์ระหว่างประเทศ และเมื่อผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกที่ก่อให้เกิด Electronic Newsgathering Equipment (ENG) ซึ่งมีขนาดกะทัดรัดและสะดวกต่อการบันทึกภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นส่งผลให้ข่าวที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งส่วนใดของโลกสามารถเผยแพร่ไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของโลกในเวลาอันรวดเร็ว จนสร้างให้เกิดเครือข่ายโทรทัศน์ทั่วโลก (Global Networking) ได้กลายเป็นปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการขัดเกลาทางวัฒนธรรมเพื่อให้ประชาชนในโลกที่สามยอมรับวัฒนธรรมของชาติมหาอำนาจ จนทำให้บริการโทรทัศน์ระหว่างประเทศได้กลายเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สำคัญของระบบจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Imperialism) ที่มีบทบาทในการถ่ายทอดวัฒนธรรมการดำรงชีวิต วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมการบริโภค วัฒนธรรมการพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนระบบคุณค่าและศรัทธา และกระบวนการทัศน์ทางความคิดจากมุมหนึ่งของโลกไปยังอีกมุมหนึ่งของโลก จนส่งผลให้โทรทัศนานุวัตรได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการเติบใหญ่ของทุนวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงลักษณะที่สำคัญของทุนทางวัฒนธรรมจะพบว่าทุนทางวัฒนธรรมมีลักษณะที่สำคัญ 7 ประการ ประกอบด้วย (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2539: 21 – 22)

1. สินค้าทางวัฒนธรรมจะต้องมีนัยยะทางวัฒนธรรมหรือจะต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่มีวัฒนธรรมฝังอยู่ในตัวในด้านใดด้านหนึ่ง ตัวอย่างเช่น จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบความเชื่อและศรัทธา ระบบคุณค่า บรรทัดฐานทางจริยธรรม แบบแผนการดำรงชีวิต แบบแผนการบริโภค แบบแผนการพักผ่อนหย่อนใจ การละเล่นและกีฬา การแต่งกาย วรรณกรรมและสิ่งพิมพ์ ศิลปะ ฯลฯ

2. ทุนทางวัฒนธรรมนั้นจะมีขาหยั่งทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยในภาคอุตสาหกรรม กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมจะมีฐานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย รองเท้า กีฬา ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้สำนักงาน ฯลฯ ส่วนในภาคบริการทุนวัฒนธรรมทางมีฐานในบริการสื่อมวลชนและสารสนเทศ บริการโทรคมนาคม บริการสันทนาการ บริการอาหารและภัตตาคาร บริการการศึกษา และบริการการโฆษณา

3. กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมหยั่งรากถึงส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวของทุน (concentration of capital) อย่างสูง จึงส่งผลให้มีอำนาจผูกขาดระดับหนึ่ง โดยกลุ่มทุนทางวัฒนธรรมต่าง ๆ มักจะเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลทั้งในประเทศแม่และประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยอาศัยรัฐบาลของตนในการเป็นผู้นำของการเปิดตลาดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการชูนโยบายการค้าสินค้าเสรี นโยบายการค้าบริการเสรี นโยบายการเงินเสรี และนโยบายการยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา จนส่งผลให้กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมได้กลายเป็นแกนนำที่สำคัญของการจัดระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศบนพื้นฐานทางปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม

4. กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมมีการรวมตัวกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ด้วยการควบรวมและครอบกรองกิจการต่าง ๆ อย่างไรก็ตามวิธีการที่สำคัญซึ่งเป็นที่นิยมอีกประการหนึ่งคือ การสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Alliance) ผ่านการทำสัญญาพันธมิตรข้ามประเทศ

5. กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ มักจะเข้ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผ่านการทุ่มรายจ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยมุ่งหวังให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนมุ่งหวังให้ได้ผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ อย่างไรก็ตามสินค้าวัฒนธรรมบางประเภทที่มีวงจรชีวิตของสินค้า (Product Life Cycle) ค่อนข้างสั้นนั้น หากไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ทดแทนชนิดเก่าได้แล้วก็ยากที่จะขยายส่วนแบ่งตลาด หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดในระดับเดิมไว้

6. กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมต่างมีความพยายามในการสร้างอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าของตนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถดำรงส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้ โดยกลุ่มทุนทางวัฒนธรรมมักจะมุ่งสร้างผลผลิตที่มียี่ห้อระดับโลก (Global Brand) เพื่อสร้างให้เกิดความภักดีต่อยี่ห้อ (Brand Loyalty) เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาด อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวจำเป็นต้องใช้บริการการโฆษณาและการส่งเสริมการขายเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้าง Global Brand และ Brand Loyalty ผ่านการสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ

7. กลุ่มทุนทางวัฒนธรรมจะเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศและเป็นหัวหอกของกระแสโลกานุวัตร แต่บรรษัทยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศเหล่านี้มักจะเลือกทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กลับกลุ่มทุนท้องถิ่นในประเทศโลกที่สาม เพราะต้องการหาประโยชน์จากเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนท้องถิ่น

ดังนั้นในการวิจัยนี้เรื่อง “การพัฒนาฐานข้อมูลด้านจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่สู่การเป็นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยในยุค Thailand 4.0” จึงมุ่งนำแนวคิดทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งมีความสอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศตามแนวคิด Thailand 4.0 มาใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เห็นถึงองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อนำไปสู่การทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ด้านจิตรกรรมฝาผนังภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการกินอยู่ ที่ประกอบไปด้วยองค์ความรู้และภาพถ่ายของจิตรกรรมฝาผนัง อันเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้ผู้ประกอบการอาหารไทย รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารไทย ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป ไปใช้พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารไทยภายใต้บริบทการพัฒนาประเทศไทยตามแนวคิด Thailand 4.0

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

27


ข้อมูลทั้งหมด

665


ยอด Download

2,495


ผู้เข้าชมเว็บไซต์