ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดบางยี่ขัน

 

วัดบางยี่ขัน


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดบางยี่ขัน
ประเภท :
วัดราษฎร์
ที่ตั้ง :
แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดนี้มีอีกชื่อว่า “วัดมุธทาราชาราม” หรือ “มุขราชธาราม” สันนิษฐานว่าอาจจะความหมายว่า “วัดของพระราชาวังหน้า” หรืออาจจะเป็นวัดที่กรมพระราชวังบวรทรงสถาปนาขึ้น วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปี พ.ศ. 2172 พระอุโบสถของวัดแห่งนี้เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ฐานแอ่นโค้งแบบอยุธยา มีมุขระเบียงยื่นด้านหน้าของพระอุโบสถ บัวหัวเสาเป็นบัวกลีบยาว หน้าบันแกะสลักเป็นเทพนมและลายก้านขด ผนังสกัดหน้าหลังก่ออิฐถือปูนจรดชั้นหลังคา ซึ่งเป็นลักษณะของงานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บริเวณใต้หน้าบันทำเป็นหน้าต่างหลอก มีกรอบซุ้มปูนปั้นทรงมณฑปภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่เป็นพระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปปูนปั้น และพระพุทธรูปหิน มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน

          ในช่วงปี พ.ศ. 2508 มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถครั้งใหญ่ เนื่องจากมีสภาพทรุดโทรมอย่างมาก ทำให้จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตกลบเลือนเกือบหมด  ส่วนพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถได้รับการบูรณะซ่อมแซมในช่วงปีพุทธศักราช 2525 (วิภารัตน์ ประดิษฐ์ตรีศิริ 2527: 5-6)


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน เป็นฝีมือของช่างเขียนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 มีรูปแบบคือบริเวณเหนือช่องประตูหน้าต่างด้านหลังพระประธานเขียนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บริเวณกลางของผนังเขียนเป็นกรอบริบบิ้นเจาะช่องคล้ายม่านแหวก เขียนพระพุทธเจ้าประทับยืนแสดงปางประทานอภัย มีพระสาวกทั้งสองข้างยืนอยู่บนเนินเขา ซึ่งภาพในส่วนนี้สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยหลัง ส่วนผนังสกัดหน้าพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ ผนังแปด้านข้างซ้ายและขวามือของพระประธานเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุมสามแถว นักสิทธิ์ วิทยาธร หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธาน ระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเขียนทศชาติชาดก


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน มีลักษณะฝีมือช่างอย่างงานช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 สีที่นิยมใช้ได้แก่ สีเขียวใบไม้ สีเขียวเข้ม สีน้ำเงิน สีน้ำตาล สีแดงชาด สีพื้นใช้สีเข้มได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำเงินเข้ม มีการทำสีรองพื้นค่อนข้างบาง ลักษณะที่โดดเด่นคือ มีการปิดทองอย่างมาก ทั้งในส่วนภาพบุคคลและภาพสถาปัตยกรรม ทำให้ภาพดูโดดเด่นมากขึ้น ประกอบกับมีฝีมือการเขียนภาพที่ละเอียดประณีตแบบงานช่างหลวง   

 

เอกสารอ้างอิง

วิภารัตน์ ประดิษฐ์ตรีศิริ. 2527. “จิตรกรรมฝาผนังวัดบางยี่ขัน”. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์ (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

890


ยอด Download

2,917


ผู้เข้าชมเว็บไซต์