ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดบางขุนเทียนใน

 

วัดบางขุนเทียนใน


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดบางขุนเทียนใน
ประเภท :
วัดราษฎร์
ที่ตั้ง :
แขวงจอมทอง เขตบางขุนเทียนใน กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดบางขุนเทียนใน เดิมชื่อวัดขนุน จากข้อมูลประวัติวัดกล่าวว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2300 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2378 สันนิษฐานว่าวัดบางขุนเทียนน่าจะเป็นวัดเก่าแก่ในสมัยอยุธยา วัดแห่งนี้คงร้างมาระยะหนึ่ง จากนั้นจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (น. ณ ปากน้ำ 2540: 107-109) พระอุโบสถมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีเสาระเบียงรอบพระอุโบสถ แสดงถึงแบบอย่างเฉพาะของงานช่างที่นิยมในรัชกาลที่ 3 (สันติ เล็กสุขุม 2548: 181)


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบางขุนเทียนใน เป็นงานฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3-4 โดยได้รับการซ่อมแซมในสมัยหลังหลายครั้ง ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องพระพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านหลังเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พื้นที่เหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนต่าง ๆ พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องชาดก มีทั้งชาดกในชุดทศชาติและชาดกนอกชุดทศชาติ


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบางขุนเทียนใน เป็นงานช่างสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 โดยได้รับการซ่อมแซมอีกหลายครั้งในสมัยหลัง จิตรกรรมแห่งนี้มีการเขียนภาพแสดงรายละเอียดประกอบฉากซึ่งถือเป็นลักษณะใหม่ อาทิ การเขียนภาพน้ำอย่างสมจริง เขียนภาพบุคคลแสดงอากัปกิริยาอย่างสามัญ อันเป็นการปรับเปลี่ยนจากปรัมปราคติให้เรื่องมีความสมจริงยิ่งขึ้น รวมถึงลักษณะของจิตรกรรมที่มีความสมจริงเพิ่มขึ้นตาม (สันติ เล็กสุขุม 2548: 183) แม้จะเป็นงานจิตรกรรมที่น่าจะเขียนขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ตอนต้น ๆ ก็ตาม แต่ก็บ่งชี้ว่ามีการสืบคตินิยมมาตั้งแต่สมัยก่อน อาทิ การจัดวางตำแหน่งเนื้อหาภาพ ซึ่งหากเป็นงานในแนวคิดแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 จริง คงปฏิเสธภาพเหล่านี้แล้วหันไปเขียนภาพปริศนาธรรม ภาพขนบธรรมเนียมประเพณี ด้วยรูปแบบอย่างตะวันตกมากขึ้น (น. ณ ปากน้ำ 2540: 11) ลักษณะที่เด่นชัดประการหนึ่งของจิตรกรรมแห่งนี้คือ การเขียนเรื่องชาดกนอกชุดทศชาติชาดกหลายตอน อันเป็นแนวคิดที่แปลกใหม่ในช่วงเวลานี้ แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของช่างเขียนและผู้กำกับการเขียนภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

น. ณ ปากน้ำ. 2540. จิตรกรรมฝาผนัง วัดบางขุนเทียนใน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

สันติ เล็กสุขุม. 2548. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

892


ยอด Download

2,924


ผู้เข้าชมเว็บไซต์