ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดสระเกศ

 

วัดสระเกศ


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดสระเกศ
ประเภท :
พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร
ที่ตั้ง :
แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดสระเกศ เดิมชื่อวัดสะแก เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้สถาปนาวัดสะแกขึ้นใหม่ทั้งวัดในปี พ.ศ. 2328 พร้อมพระราชทานนามว่าวัดสระเกศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ว่าในปี พ.ศ. 2325 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จฯ นำทัพกลับจากการสงครามที่กรุงกัมพูชาถึงชานพระนคร ได้ทรงทราบเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรี จึงได้เสด็จฯ ผ่านโขลนทวาร และประทับสรงมุรธาภิเษกที่พลับพลายวัดสระแก 3 วัน จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนสถลมารคจากวัดสะแกไปประทับพลับพลาหน้าวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) แล้วประทับเรือพระที่นั่งข้ามไปพระราชวังกรุงธนบุรี ซึ่งหมู่เสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงได้อัญเชิญพระองค์ผ่านพิธีปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเป็นการใหญ่ เนื่องจากวัดอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก โดยซ่อมพระอุโบสถใหม่ เขียนภาพฝาผนัง และทำซุ้มพัทธสีมาประดับกระเบื้อง ซ่อมหอไตร และบูรณะพระตำหนักรัชกาลที่ 1 สร้างพระระเบียงรอบพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูป พระระเบียงพุทธเจดีย์รายรอบพระอุโบสถ พระวิหาร และสร้างพระเจดีย์ภูเขาทอง ตามพระราชดำริเพื่อเป็นวัดเหมือนเช่นวัดภูเขาทองในกรุงศรีอยุธยา ครั้นปี พ.ศ. 2374 ทรงโปรดให้มีการจัดพระราชพิธีฉลองพระอารามครั้งใหญ่ พร้อมกับพระอารามอื่น ๆ รวม 9 พระอาราม (รำไพพรรณ แก้วสุริยะ 2549: 7-12)


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นงานฝีมือในสมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งพระอาราม ต่อมามีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 7 ครั้งล่าสุดในสมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่งจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2501 (รำไพพรรณ แก้วสุริยะ 2549: 18) ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านหลังเขียนเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน พื้นที่เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม เหนือขึ้นไปถูกแบ่งด้วยเส้นริบบิ้นเขียนภาพฤาษี นักสิทธิ์วิทยาธร พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นงานฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยต่อมาหลายครั้ง ลักษณะเด่นที่สังเกตว่าเป็นงานในสมัยรัชกาลที่ 1 คือการจัดวางองค์ประกอบภาพ ลักษณะเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเขียนเรื่องชาดกนอกชุดทศชาติชาดก ที่เชิงบานประตูหน้าต่าง อาทิ เรื่องอลังกาชาดก กุรุงคมิคชาดก สมุทรโฆษชาดก โคธชาดก คุณชาดก สุวรรณหงส์ เทวธรรมชาดก มัจฉชาดก เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

รำไพพรรณ แก้วสุริยะ. 2549. คู่มือนำเที่ยววัดสระเกศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

693


ยอด Download

2,606


ผู้เข้าชมเว็บไซต์