ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดคงคาราม

 

วัดคงคาราม


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดคงคาราม
ประเภท :
วัดราษฎร์
ที่ตั้ง :
ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
13°42'55.7"N,99°51'03.1"E
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดคงคาราม เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วคงร้างไประยะหนึ่ง ต่อมาในราวสมัยรัชกาลที่ 2-3 เมื่อไทยปลอดสงครามจากพม่าแล้ว มีชาวมอญกลุ่มหนึ่งเรียกกันว่าชาวรามัญ 7 เมืองที่อาศัยอยู่แถบหน้าด่านเมืองกาญจนบุรี พากันอพยพลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองในบริเวณบ้านโป่งลงมาถึงบ้านโพธารามอันเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่า ชุมชนชาวมอญเหล่านี้ได้จัดตั้งวัดขึ้นในชุมชนของตนหลายวัด โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านคงคาและมีวัดคงคารามเป็นวัดกลางของหมู่บ้าน (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ 2536: 86-90) วัดคงคารามมีความสำคัญในฐานะเป็นวัดที่ตั้งของเจ้าคณะสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายที่ปกครองดูแลวัดต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม ทำให้มีเจ้าคณะสงฆ์ฝ่ายรามัญแขวงราชบุรี ที่มีสมณศักดิ์เป็นพระครูรามัญญาธิบดี จำพรรษาอยู่ที่วัดคงคารามต่อเนื่องกันถึง 6 รูป มีพระสงฆ์ชาวมอญเป็นเจ้าอาวาสวัดคงคารามสืบต่อเนื่องมาอีกหลายรูป  ทำให้วัดคงคารามเป็นศูนย์กลางทั้งในด้านการปกครองและการประกอบสังฆกรรมสำคัญต่าง ๆ (กรมศิลปากร 2521: 26-29) พระอุโบสถวัดคงคารามเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง ตัวอาคารหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่ยกพื้นสูง มีประตูทางเข้าและบันไดขึ้นด้านทิศตะวันออกและด้านทิศเหนือ เครื่องบนหลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องกาบู จั่วหน้าบันประดับเครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักประดับกระจกสี หน้าบันปูนปั้นลวดลายใบไม้และดอกไม้


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดคงคาราม เป็นงานจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 อันสืบทอดจากสกุลช่างรัชกาลที่ 3 (กรมศิลปากร 2521: 47-48 และ สันติ เล็กสุขุม 2536: 169) เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านหลังเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน พื้นที่ห้องระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก พื้นที่เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติ และเหนือขึ้นไปเขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้า


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

         จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดคงคาราม เป็นงานจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 อันสืบทอดจากสกุลช่างรัชกาลที่ 3 ลักษณะเด่นของจิตรกรรมแห่งนี้คือ ความเป็นงานจิตรกรรมในหัวเมือง อันเกิดจากงานฝีมือระดับครูช่างหรือช่างจากกรุงเทพฯ ที่ออกไปรับงานตามหัวเมือง ที่เกิดการผสมผสานกับคติความเชื่อ วัฒนธรรมของผู้คนในหัวเมือง เกิดเป็นงานจิตรกรรมที่มีเอกลักษณ์ของหัวเมือง จิตรกรรมแห่งนี้มีลักษณะอย่างงานช่างในกรุงเทพฯ มีการปิดทอง การตัดเส้นเล็กและเรียบสม่ำเสมอ การเขียนรูปปราสาทและอาคารบ้านเรือนที่มีอิทธิพลของศิลปะจีนผสมกับลักษณะของศิลปะยุโรป การเขียนภาพต้นไม้ ท้องฟ้า ภูเขา (เขามอ เขาไม้) ตลอดจนภาพบุคคลชั้นสูงและภาพข้าราชสำนัก การเขียนภาพชาวบ้าน ประกอบกับเทคนิคการใช้สีโดยเฉพาะสีเขียวแก่จัด จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้จึงจัดว่างดงามสูงสุดและคัดเลือกครูช่างที่มีความรู้ความสามารถ ความชำนาญในงานจิตรกรรม และมีความเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง (กรมศิลปากร 2525: 52)

          จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ปรากฏภาพเกี่ยวกับอาหารการกินอยู่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

          1) กลุ่มแรก พบเป็นภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลักคือ พุทธประวัติและทศชาติชาดก อาทิ ภาพนางสุชาดากวนข้าวมธุปายาสถวายพระโพธิสัตว์ ในภาพบุคคลแสดงอากัปกิริยาท่าทางเหมือนจริงผสมผสานกับนาฏลักษณ์ ประกอบด้วยอุปกรณ์อย่างสมจริงในการทำข้าวมธุปายาส ภาพชาวตะวันตกนั่งรับประทานอาหารบนเก้าอี้พร้อมชุดโต๊ะอย่างตะวันออก ภาพการค้าขายของชาวจีนทางเรือซึ่งเป็นปกติสามัญในสมัยนั้น กลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างคติปรัมปราที่ยังยึดโยงอยู่กับท่าทางนาฏลักษณ์ตามแบบแผนจารีตกับแนวคิดแบบตะวันตกที่มุ่งให้ความสำคัญกับสมจริงและความสมเหตุสมผล  

          2) กลุ่มภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง พบเป็นชีวิตประจำวันของชาวบ้าน อาทิ ภาพเด็ก ๆ ชาวบ้านนอกกำแพงเมืองกำลังเล่นต่าง ๆ ภาพชาวบ้านกำลังล่าสัตว์ เก็บผลไม้ เก็บของป่า ภาพชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่แสดงออกด้วยการแต่งกาย ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลุ่มชาวมอญในบริเวณรอบวัดแห่งนี้ กลุ่มนี้แสดงอากัปกิริยาท่าทางลักษณะสามัญอย่างชัดเจน โดยไม่ได้คำนึงถึงท่าทางแบบนาฏลักษณ์ที่คงสงวนไว้ใช้กับตัวพระตัวนางหรือตัวบุคคลที่สำคัญเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสมจริงของเรื่องราวด้วยภาพเขียน

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. 2521. วัดคงคาราม. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิชย์.

กรมศิลปากร. 2525. รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดราชบุรี. ชุดที่ 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. 2536. “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง: ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี.” ใน ลุ่มน้ำแม่กลอง: พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม.

สันติ เล็กสุขุม. 2536. “บางวัดในชุมชนมอญและชุมชนลาว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี.” ใน ลุ่มน้ำแม่กลอง: พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

663


ยอด Download

2,494


ผู้เข้าชมเว็บไซต์