ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดสุทัศนเทพวราราม

 

วัดสุทัศนเทพวราราม


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดสุทัศนเทพวราราม
ประเภท :
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร
ที่ตั้ง :
แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น โดยวางตำแหน่งของวัดแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นตำแหน่งใจกลางของพระนคร ซึ่งเป็นแนวคิดที่พระองค์นำมาใช้วางแผนผังเมืองหลวงทั้งในเขตพระราชฐานชั้นในและชั้นนอก โดยทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2350 พระราชทานชื่อว่า วัดมหาสุทธาวาส ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพธาราม และได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ วัดสุทัศนเทพวราราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อันมีความหมายถึง สุทัสสนครบนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ วัดแห่งนี้เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 สำหรับพระอุโบสถของวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชษฏฐ์ พระอุโบสถนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเริ่มงานในปี พ.ศ. 2377 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2386 เป็นงานสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 (น. ณ ปากน้ำ 2539: 9-17)  


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นงานฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4-5 (น. ณ ปากน้ำ 2539: 9-10) ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ระหว่างช่องหน้าประตูเขียนภาพถ้ำนันทมูล ของภูเขาคันธมาทนกูฏในป่าหิมพานต์ เชิงเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่สถิตที่ชุมนุมของเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้า พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพประวัติของพระปัจเจกพุทธเจ้า พื้นที่เหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติตอนต่าง ๆ


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นงานฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 เอกลักษณ์ของจิตรกรรมแห่งนี้และงานจิตรกรรมในสมัยนี้คือ มีการเขียนภาพที่แสดงรายละเอียดมากจนแน่น มีการเขียนภาพประกอบที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง อาทิ กลุ่มภาพชาวตะวันตกที่ไม่มีส่วนในเรื่องประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป็นเพียงภาพประกอบเหตุการณ์ที่ช่างเขียนประดับฉาก มีการเขียนภาพที่ได้รับแนวคิดตะวันตกมากขึ้น อาทิ การแสดงท่าทีอิริยาบถของชาวตะวันตกในภาพ ซึ่งคงเป็นเครื่องแสดงความทันสมัยของช่างเขียน หรือเป็นที่พอใจของเจ้านายหรือพระสงฆ์ที่กำกับดูแลงาน การเขียนภาพรายละเอียดแสดงความสมจริง และความหลากหลายของสีที่ช่างเขียนเลือกใช้ ช่างเขียนยังคำนึงถึงความแตกต่างอย่างอื่น เช่น จีวรของเหล่าปัจเจกพุทธเจ้าที่ระบายสีเข้มบ้างอ่อนบ้าง (สันติ เล็กสุขุม 2548: 164-166) ซึ่งลักษณะดังกล่าวปรากฏเสมอในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 จุดเด่นประการหนึ่งคือ การเขียนเรื่องพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งนับว่าเป็นแห่งแรกและแห่งสุดท้าย เพราะเมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่4 เป็นต้นมา ความนิยมในการเขียนภาพพุทธประวัติและทศชาติชาดก ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป โดยไปนิยมเขียนเรื่องปริศนาธรรม เรื่องบันทึกแหล่งพุทธสถานสำคัญ เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีแทน (น. ณ ปากน้ำ 2539: 17)

 

เอกสารอ้างอิง

น. ณ ปากน้ำ. 2539. จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวราราม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

สันติ เล็กสุขุม. 2548. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

892


ยอด Download

2,923


ผู้เข้าชมเว็บไซต์