ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดบางแคใหญ่

 

วัดบางแคใหญ่


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดบางแคใหญ่
ประเภท :
วัดราษฎร์
ที่ตั้ง :
ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
กุฏิสงฆ์
ประวัติวัด :

          วัดบางแคใหญ่ สันนิษฐานจากหลักฐานที่ปรากฏว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) สร้างให้กับภรรยาหลวงของท่านในปี พ.ศ. 2357 อยู่ในช่วงต้นรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์เป็นสมุหพระกลาโหม เป็นบุตรของเจ้าพระยาราชบุรี (เสม วงศาโรจน์) เชื้อสายของตระกูลวงศาโรจน์สืบสายหนึ่งมาจากราชนิกูล บางช้าง เชื้อสายนี้มักรับราชการสนองพระเดชพระคุณในแถบสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ได้บังคับบัญชาทหารทั้งปวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยได้รับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพไปราชการสงครามกับพม่าที่ชายแดนไทยอยู่เสมอ (น. ณ ปากน้ำ และแสงอรุณ กนกพงศ์ชัย 2534: 17-18)


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังบนฝาปะจันกุฏิสงฆ์วัดบางแคใหญ่เขียนบนฝาไม้เรียบแบบฝาถัง เขียนเป็นภาพเล่าเรื่องต่อเนื่องกันเต็มพื้นที่ผนัง สันนิษฐานว่าเป็นภาพเหตุการณ์ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ไปขัดตาทัพที่ราชบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2364 (น. ณ ปากน้ำ และแสงอรุณ กนกพงศ์ชัย 2534: 18) อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางท่านเสนอว่าจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้มีลักษณะหลายประการที่น่าจะเป็นงานในสมัยรัชกาลที่ 3 อาทิ การเขียนภาพชีวิตประจำวันที่มีการเขาใจใส่ในรายละเอียด เช่น การแต่งกาย การไว้ทรงผม อิริยาบถอย่างสามัญในกิจวัตรประจำวัน อันเป็นการเขียนภาพทำนองบันทึกเรื่องจริง โดยไม่ใช่เรื่องปรัมปราทางศาสนา การเขียนภาพพุ่มใบของต้นไม้เป็นร่องรอยของการใช้แปรงจากเปลือกกระดังงาจุ่มสีหมาด ๆ แล้วแต้มให้เกิดพุ่มใบ รับแสงบ้าง หลบแสงบ้าง (สันติ เล็กสุขุม 2548: 74-75)  


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังบนฝาปะจันกุฏิสงฆ์วัดบางแคใหญ่ มีการใช้สีบาง โครงสีง่าย ๆ คือเขม่าผสมสีดินแดง สีดินเหลือง สีดำ แล้วระบายอ่อน ๆ แทนที่จะผสมสีขาว อาทิ การเขียนภาพบ้านเรือน การเขียนภาพบุคคลจะตัดเส้นเฉพาะส่วนที่เป็นจมูก ตา ลำตัว ด้วยเส้นสีแดงอ่อน ๆ ส่วนการเขียนคิ้วและตัดเส้นเสื้อผ้าจะใช้สีดำ ทำให้ภาพดูมีความคม การเขียนภาพบุคคลแสดงการเคลื่อนไหวในการทำงานที่ได้อารมณ์อย่างมาก มีการจัดวางองค์ประกอบภาพแบบวิวตานก คือมองจากมุมสูง มีการแบ่งภาพด้วยธรรมชาติล้วน ๆ เช่น ภูเขา โขดหิน และป่า แทนการใช้เส้นสินเทา (น. ณ ปากน้ำ และแสงอรุณ กนกพงศ์ชัย 2534: 25, 47) จุดเด่นสำคัญคือการเขียนภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหมู่บ้านชาวมอญ ชาวไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ซึ่งแสดงได้อย่างมีชีวิตชีวา สะท้อนถึงสังคมและวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น

 

 

เอกสารอ้างอิง

น. ณ ปากน้ำ และแสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. 2534. จิตรกรรมฝาผนัง วัดบางแคใหญ่. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

สันติ เล็กสุขุม. 2548. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

851


ยอด Download

2,883


ผู้เข้าชมเว็บไซต์