วัดดุสิดาราม
ข้อมูลทั่วไป
วัดดุสิดารามเป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อว่าวัดเสาประโคน ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ (แจ่ม) พระธิดาพระองค์ที่ 5 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ได้บูรณะวัดแห่งนี้โดยสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง หอระฆัง และกุฏิ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ต่อเนื่องมาบางส่วน ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง วัดดุสิดารามได้รวมวัดภุมรินราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ ซึ่งเป็นวัดขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ ๆ กัน รวมเข้าเป็นวัดดุสิดารามในปัจจุบัน (น. ณ ปากน้ำ 2526: 33-34) สำหรับพระอุโบสถวัดดุสิดาราม เป็นอาคารมีเพิงคลุมเฉลียง เป็นรูปแบบสืบทอดมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย แบบเดียวกับวัดไชยทิศ (สันติ เล็กสุขุม 2548: 57)
ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดดุสิดาราม เป็นงานฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 บางส่วนได้รับการซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 3 ผนังด้านหลังพระประธานเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน ด้านล่างเขียนภาพนรกภูมิ เรี่องพระมาลัย ผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านข้างทั้งสองเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม โดยแบ่งเป็นแถวแนวนอน 3 แถว เหนือขึ้นไปคั่นด้วยเส้นสินเทา เขียนภาพฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร พื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเขียนภาพพุทธประวัติตอนต่าง ๆ
ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดดุสิดาราม เป็นงานฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 มีรูปแบบสืบทอดมาจากจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากหลายแห่งมีการใช้สีบางใส ซึ่งเป็นลักษณะของงานช่างสมัยรัชกาลที่ 1 โดยทั่วไป แตกต่างไปจากงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ใช้สีเข้ม อาทิ คู่สีแดงเข้มกับเขียวเข้ม (สันติ เล็กสุขุม 2548: 58) จิตรกรรมแห่งนี้โดยมากจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีชมพูอ่อน บางแห่งอ่อนมากจนดูเป็นสีขาว นอกจากนี้ ยังมีการเขียนภาพตัวบุคคลขนาดใหญ่ ไม่สมดุลกับสัดส่วนของอาคารสถาปัตยกรรม (น. ณ ปากน้ำ 2526: 35-36)
เอกสารอ้างอิง
น. ณ ปากน้ำ. 2526. จิตรกรรมฝาผนัง วัดดุสิดาราม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
สันติ เล็กสุขุม. 2548. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่











