ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

 

วัดพระที่นั่งพุทไธสวรรย์


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ประเภท :
พระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล
ที่ตั้ง :
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระที่นัึ่ง
ประวัติวัด :

          พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างพระที่นั่งองค์นี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2338 ตลอดรัชกาลที่ 1-5 ยังคงใช้เป็นที่สำหรับทำการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามพระราชดำริเดิมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระที่นั่งองค์นี้ได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง ครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงปฏิสังขรณ์แก้ไขของเดิมหลายประการ โดยซ่อมแซมเพียงส่วนที่ชำรุด ส่วนที่ไม่ชำรุดยังคงรักษาไว้ทุกประการ รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งด้วย (น. ณ ปากน้ำ 2540: 8-9)


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้เขียนขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2338-2340 (น. ณ ปากน้ำ 2540: 10) โดยเป็นฝีมือช่างเขียนในสมัยรัชกาลที่ 1 แม้จะมีการซ่อมแซมในสมัยหลังอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ผนังด้านข้างทั้งสองด้านเขียนภาพเทพชุมนุมนั่งประนมมือเข้าหาพระประธาน แบ่งเป็นแถวแนวนอน 4 แถว เหนือขึ้นไปเป็นภาพฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร ผนังตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติจากคัมภีร์พระปฐมสมโพธิกถา


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นงานฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการใช้เทคนิคการเขียนภาพ การวางองค์ประกอบภาพ การใช้สีต่าง ๆ ที่สืบทอดมาจากจิตรกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างใกล้ชิด สีที่ใช้ในจิตรกรรมแห่งนี้เน้นหนักในโทนสีแดงชาด มีโครงสีโดยรวมเป็นสีแดงและสีม่วงแดง นิยมใช้คู่สีแดงชาดกับสีเขียวใบไม้ มีการลงพื้นสีค่อนข้างหนัก แล้วสอดสลับสีง่าย ๆ ไม่กี่สี สีพื้นหลังส่วนใหญ่ใช้สีคล้ำ อาทิ สีเขียวคล้ำ สีน้ำเงินคล้ำ สีน้ำตาลคล้ำ ภาพคน สัตว์ ต้นไม้ใช้สีนวลและสีหม่น ทำให้ภาพเหล่านี้โดดเด่นจากพื้นหลัง มีการใช้สีแท้ระบายบนพื้นหลังส่วนที่สำคัญต้องการเน้น อาทิ ใช้สีแดงชาดระบายพื้นในปราสาทราชวัง ทำให้ภาพบุคคลในปราสาทดูโดดเด่นมากขึ้น มีการใช้สีแดงชาดและสีเขียวเป็นกรอบเส้นสินเทา เพื่อเน้นให้เด่นและดึงดูดความสนใจ มีการใช้สีทองปิดระดับบริเวณที่ต้องการเน้นความสำคัญ โดยจะเน้นเฉพาะบางส่วนให้ดูโดดเด่นเท่านั้น อาทิ ยอดปราสาท เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับของบุคคลชั้นสูง หรือองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งผิดกับงานจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่นิยมปิดทองอย่างมากจนแวววาวไปทั้งภาพ (น. ณ ปากน้ำ 2540: 12-13) จุดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเขียนภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่สะท้อนสังคมและวัฒนธรรม โดยมักจะปรากฏบริเวณด้านล่างของพื้นที่ผนัง

 

เอกสารอ้างอิง

น. ณ ปากน้ำ. 2540. จิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

           


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

848


ยอด Download

2,879


ผู้เข้าชมเว็บไซต์