ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดช่องนนทรี

 

วัดช่องนนทรี


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดช่องนนทรี
ประเภท :
วัดราษฎร์
ที่ตั้ง :
แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดช่องนนทรีเป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฏหลักฐานงานศิลปกรรมภายในวัดโดยเฉพาะพระอุโบสถและจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถมีส่วนฐานแอ่นโค้งท้องสำเภา ด้านหน้าทำเป็นมุขเด็จ ด้านหลังต่อเป็นมุขยื่นมีเสารองรับหลังคา หน้าบันเป็นฝาประกนไม่สลักลวดลาย มุงกระเบื้องลอน ประดับกระเบื้องเชิงชาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน และหมู่พระพุทธรูป 4 องค์ อาคารมีช่องประตูหน้าต่างเป็นรูปโค้งคล้ายกลีบบัว คือสอบแหลมที่ปลายบน บานหน้าต่างประกบกันเป็นรูปโค้งกลีบบัว ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ต้นพุทธศตวรรษที่ 23


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดช่องนนทรี เป็นงานศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23 สอดคล้องกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถ โดยเขียนภาพเต็มพื้นที่ภายใน ผนังด้านข้างแถวบนสุดเขียนภาพแถวพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงราย พื้นที่ถัดลงมาเขียนภาพทศชาติชาดก มีการเขียนภาพแทรกด้วยภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพระพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านหลังภาพลบเลือนมากแต่พอสังเกตได้ว่าเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่ง   


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดช่องนนทรี มีลักษณะโดดเด่นอยู่ที่ความเป็นงานจิตรกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภาพเล่าเรื่องชาดกมีแถบเส้นแนวตั้งทรงสามเหลี่ยมหรือเส้นสินเทาคั่น เพื่อแบ่งเรื่องแต่ละเรื่องออกจากกัน เส้นสินเทายังทำหน้าที่เน้นฉากเหตุการณ์สำคัญให้โดดเด่นขึ้น อาทิ เส้นสินเทาที่เน้นภาพปราสาทราชวังให้เด่นเป็นสง่า จิตรกรรมแห่งนี้มีการใช้สีที่ดูอบอุ่น อันเกิดจากโครงสีออกแดงและชมพูอ่อน สีแดงที่ระบายเป็นพื้นหลังควบคู่กับพื้นขาวที่ปล่อยว่างช่วยให้เกิดบรรยากาศสดใส พื้นสีขาวที่เป็นสีพื้นเมื่อตัดเส้นด้วยสีดำสีแดงให้เป็นภาพ พื้นขาวจึงเป็นสีของตัวภาพไปในตัว สีแดงที่ใช้ระบายเป็นฉากหลังเป็นสีพื้นและท้องฟ้าจึงไม่ใช่สีที่สมจริง สีใบไม้เริ่มมีสีต่าง ๆ กัน เช่น สีเขียวหม่นมืด สีเขียวเหลือง (สันติ เล็กสุขุม 2550: 191-193) มีการปิดทองเล็กน้อยเฉพาะเครื่องประดับของภาพบุคคล ภาพเครื่องสูง และบางส่วนของภาพสถาปัตยกรรม

 

เอกสารอ้างอิง

สันติ เล็กสุขุม. 2550. ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.     


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

854


ยอด Download

2,915


ผู้เข้าชมเว็บไซต์