ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดทองธรรมชาติ

 

วัดทองธรรมชาติ


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดทองธรรมชาติ
ประเภท :
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
ที่ตั้ง :
แขวงวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดทองธรรมชาติเป็นวัดเก่าแก่ก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ตามประวัติว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้าหญิงกุ หรือ เจ้าครอกวัดโพธิ์ ทรงเป็นพระกนิษฐาต่างพระมารดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1) และพระองค์เจ้า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (พระนามเดิม มุก) ทรงร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัด แต่ไม่แล้วเสร็จ อาจเนื่องจากกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์เมื่อ ปี พ.ศ. 2355 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร เป็นแม่กองในการบูรณะวัดนี้ และรับเป็นพระอารามหลวง พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดทองธรรมชาติ” โดยต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการปฏิสังขรณ์วัดนี้ และในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะพระอุโบสถที่มีการซ่อมแซมทั้งหลัง (อภิวันทน์ อดุลยพิเชษฏฐ์ 2557: 96-97)    


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติเป็นงานศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการจัดวางภาพแบบที่นิยมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นภาพพุทธประวัติ ผนังด้านหน้าเขียนภาพมารผจญ ผนังด้านหลังเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน ลักษณะเด่นคือเขียนภาพกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่ด้านล่างภาพไตรภูมิ สะท้อนถึงวิถีชีวิตของสังคมค้าขายของชาวกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะสำคัญของจิตรกรรมแห่งนี้คือ การแทรกภาพวิถีชีวิตของผู้คนอยู่ในภาพ แสดงอิริยาบถต่าง ๆ และเป็นการบันทึกสังคมในมิติต่าง ๆ อาทิ ภาพสถาปัตยกรรมและภาพการแต่งกายของบุคคลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากของจริงในสังคมขณะนั้น   

          จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติ มีโทนสีโดยรวมเป็นสีคล้ำ ตามลักษณะที่นิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งแตกต่างจากสมัยอยุธยาตอนปลายที่นิยมโทนสีอ่อนดูสว่างกว่า มีการใช้คู่สีหลักเป็นสีแดงกับสีเขียว บางส่วนใช้สีแดงเป็นพื้นทำให้ภาพดูโดดเด่น อาทิ ภาพมารผจญ-ชนะมาร ภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน มีการปิดทองคำมากขึ้นทำให้ภาพดูแพรวพราวโดดเด่นขึ้น อาทิ ภาพปราสาทราชวัง หน้าบันอาคาร ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่นิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (อภิวันทน์ อดุลยพิเชษฏฐ์ 2557: 104) 


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติ มีการเขียนแทรกด้วยภาพวิถีชีวิตของผู้คนอยู่ในหลายภาพ เป็นการบันทึกสังคม ให้ความรู้สึกร่วมสมัย โดยภาพที่สำคัญได้แก่ ภาพอาคารห้องแถวร้านค้าขนาดใหญ่ที่ด้านล่างภาพไตรภูมิ ที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวจีนในกรุงเทพฯ ที่นิยมการค้าขายในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นลักษณะของกงสีชาวจีนครอบครัวใหญ่ในสมัยนั้น (แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย 2525: 12) โดยในภาพเขียนให้รู้ว่าเป็นพื้นที่ตรงข้ามกับกำแพงพระราชวัง จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบริเวณย่านวังบูรพาในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของผู้ปฏิสังขรณ์วัดคือ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร (กรมศิลปากร 2525: 225)

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. 2525. ศิลปวัฒนธรรมไทย (4) วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. 2525. วัดทองธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

อภิวันทน์ อดุลยพิเชษฏฐ์. 2557. จิตรกรรมฝาผนังวัดทองธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

 


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

853


ยอด Download

2,888


ผู้เข้าชมเว็บไซต์