ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่
ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เกี่ยวกับอาหารไทยในยุค THAILAND 4.0

ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดหน่อพุทธางกูร

 

วัดหน่อพุทธางกูร


 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวัด :
วัดหน่อพุทธางกูร
ประเภท :
จิตกรรมฝาผนัง
ที่ตั้ง :
ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี (ริมแม่น้ำท่าจีนทางฝั่งตะวันตก)
พิกัดทางภูมิศาสตร์ :
,
Plus Code :
[ ]
ตำแหน่งงานจิตรกรรม :
พระอุโบสถ
ประวัติวัด :

          วัดหน่อพุทธางกูรตามประวัติบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวลาวจากเวียงจันทน์ ที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้น โดยให้ชื่อว่าวัดมะขามหน่อ ภายหลังในช่วงที่พระอาจารย์คำเป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหน่อพุทธางกูร   


 

ข้อมูลงานจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร เชื่อกันว่า นายคำ ชาวลาวเวียงจันทน์ เป็นผู้เขียนขึ้น กล่าวกันว่านายคำเป็นชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2369 ได้เข้าไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วยความที่นายคำเคยเป็นช่างเขียนมาก่อน จึงถูกเกณฑ์ให้ไปเขียนภาพอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม หลังจากนั้นนายคำได้เดินทางมาหาพี่น้องที่สุพรรณบุรี จึงได้รับอาสาเขียนภาพภายในอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร โดยได้ชักชวนนายเทศ ซึ่งเป็นลูกเขยจากกรุงเทพฯ มาช่วยเขียนด้วย (กรมศิลปากร 2548: 21)


 

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูรมีฝีมือช่างแบบพื้นบ้านที่มีฝีมือประณีต โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแบบช่างหลวงกรุงเทพฯ ทั้งในด้านเทคนิคเชิงช่างและรูปแบบศิลปะ การใช้สีส่วนใหญ่เป็นสีแดง สีน้ำเงิน รองลงมาเป็นสีน้ำตาล สีเขียว สีเทา สีขาว และสีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่นิยมในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา การวางตำแหน่งเนื้อหาภาพเขียนภาพทศชาติชาดกบนพื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างและประตู โดยด้านซ้ายพระประธานเขียนตั้งแต่เรื่องเตมีย์ชาดกไล่เรียงไปจนถึงวิธูรบัณฑิตชาดก ส่วนด้านขวาพระประธานเขียนภาพเวสสันดรชาดก บนผนังสกัดด้านหลังพระประธานส่วนบนเขียนภาพพระเจดีย์จุฬามณี ส่วนด้านล่างเขียนภาพพุทธประวัติ บนผนังสกัดด้านหน้าเขียนภาพพระอินทร์ สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามประวัติบอกเล่า ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบศิลปะของงานจิตรกรรมฝาผนัง ลักษณะเด่นของจิตรกรรมแห่งนี้คือความเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังในหัวเมือง ที่สะท้อนถึงการผสมผสานทางด้านรูปแบบศิลปะและคติความเชื่อระหว่างศิลปะแบบพื้นบ้านกับศิลปะแบบช่างหลวง อาทิ ภาพเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนที่ปรากฏย่อมสะท้อนวัฒนธรรมและสังคมของชาวเมืองสุพรรณบุรีในช่วงเวลานั้น ภาพเกี่ยวกับพระเจดีย์จุฬามณีซึ่งเป็นความเชื่อที่ยังเข้มข้นอยู่ในกลุ่มชาวลาวเวียงจันทน์ในช่วงเวลานั้น เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. 2548. จิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสุพรรณบุรี. นนทบุรี: บริษัท ไซเบอร์ ร็อก เอเยนซี่ กรุ๊ป กำจัด.

 


 

จิตรกรรมฝาผนังภาพอาหารและการกินอยู่


27


ข้อมูลทั้งหมด

711


ยอด Download

2,626


ผู้เข้าชมเว็บไซต์