จิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารและการกินอยู่ ในกรุงเทพมหานคร
จุดเด่น :
จิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหารการกินในกรุงเทพฯ ในกลุ่มวัดหลวงที่มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างหลวง มีลักษณะฝีมือชั้นสูง ภาพเขียนมีความละเอียดประณีต และมีรูปแบบโดยรวมคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากการเขียนตามกรอบจารีตของช่างหลวงกลุ่มเดียวกันที่ไปทำงานในวัดหลวงหลาย ๆ วัด โดยนิยมเขียนภาพเกี่ยวกับอาหารการกินทั้งในลักษณะที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องและไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมในวัดเหล่านี้มีลักษณะบางประการที่แตกต่างกันออกไป อันเกิดจากคุณลักษณะของงานจิตรกรรมไทยที่มักมีแง่มุมในการเขียนภาพอย่างอิสระอยู่เสมอ อนึ่ง การเขียนภาพเกี่ยวกับอาหารการกินในวัดหลวงนั้น ปรากฏอย่างมีอิสระมากขึ้นเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4-5 อาทิ จิตรกรรมวัดทองธรรมชาติ จิตรกรรมวัดโพธินิมิตร ทำให้จิตรกรรมภาพเกี่ยวกับอาหารการกินแต่ละแห่งมีรูปแบบบางประการที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะ เนื่องจากในช่วงเวลานี้สังคมเกิดกระแสการปรับเปลี่ยนความคิดไปสู่ความทันสมัยเพื่อรับกับชาวตะวันตกอย่างรุนแรง งานจิตรกรรมไทยก็เช่นเดียวกัน ได้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากกรอบจารีตนิยมที่มีมาแต่โบราณ มาเป็นการเขียนเรื่องตามความต้องการส่วนตัว อาทิ วรรณกรรม วัฒนธรรม ประเพณีพิธีกรรม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เขียนภาพวิถีชีวิตสามัญเพิ่มมากขึ้น รวมถึงภาพเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน